ที่มาและความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์

วัคซีนและชีวภัณฑ์ เป็นสารชีวโมเลกุลที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและมีความคุ้มทุนสูงที่สุดในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคระบาดในสัตว์อันเกิดจากเชื้อก่อโรคชนิดต่างๆได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว พยาธิต่างๆทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีการเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าบริโภคและยังมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ต้นทุนการผลิตสัตว์จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ให้ได้กำไร สัตว์จะต้องมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อที่จะสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เต็มที่ การใช้วัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เป็นวิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดต่อทั้งตัวสัตว์เอง เกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้บริโภค เพราะการใช้วัคซีน สามารถลดการใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะ จึงทำให้ไม่มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์ในรูปของเนื้อ เนื้อสัตว์แปรรูป และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น นมอินทรีย์ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีในสัตว์ได้

ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วัคซีนจัดเป็นหนึ่งในสารชีวภัณฑ์ที่มีความนิยมในการใช้งานสูง ส่งผลให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์นี้สูงตามไปด้วย  โดยในแต่ละปี ประเทศไทยมีการใช้วัคซีนป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคในสัตว์ ทั้งที่ผลิตเองในประเทศและที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศรวมแล้วคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านบาท โดยมีนโยบายและการดำเนินงานจากหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ กำหนดนโยบายการใช้วัคซีน และมีหน้าที่ด้านการผลิตวัคซีนสัตว์เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญ จึงสามารถทำให้เกษตรกรได้ใช้วัคซีนที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศที่มีราคาถูกได้ อันเป็นการลดภาระทางด้านต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตวัคซีนสัตว์ในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และรูปแบบวัคซีนที่ผลิตโดยหน่วยงานรัฐ ยังคงเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งใช้โรงงานผลิตวัคซีนที่มีเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม จึงทำให้ผลิตวัคซีนได้ปริมาณจำกัด และโรงงานที่ใช้ผลิตไม่ได้รับรองมาตรฐานของโรงงานควบคุมการผลิตชีวภัณฑ์ จึงทำให้ วัคซีนที่ผลิตได้เหล่านี้มีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในสัตว์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ส่งผลให้มีการนำเข้าวัคซีนที่ใช้ควบคุมโรคในสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้วัคซีนภายในประเทศ ส่งผลให้สูญเสียงบประมาณในการนำเข้าวัคซีนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน รูปแบบของวัคซีนและชีวภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมโรคในสัตว์นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้วัคซีนหน่วยย่อย (subunit vaccines) ที่ประกอบด้วยวัคซีนชนิด recombinant protein vaccines และดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) โดยวัคซีนทั้งสองชนิดนี้เป็นวัคซีนที่มีการของพัฒนาและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับที่ใช้ในมนุษย์ จึงมีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า นอกจากวัคซีนชนิดหน่วยย่อยที่สามารถใช้ควบคุมโรคในสัตว์แล้ว สารชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นสารกลุ่มชีวโมเลกุล ก็มีบทบาทหลักในการประยุกต์ใช้เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์ การเกษตร และด้านอื่นๆ  เช่น การผลิต antimicrobial peptide เพื่อใช้ในการควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ การผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีนชนิดต่างๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคทางการสัตวแพทย์ และการแพทย์ เป็นต้น

ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อจำกัดของการนำวัคซีนและสารชีวภัณฑ์ในกลุ่มของสารชีวโมเลกุลที่มีในปัจจุบันไปใช้งานจริง คือ ไม่สามารถเพิ่มกำล้งการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์พื้นฐานของโรงงานผลิตวัคซีนรูปแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอต่อการผลิตและการทำบริสุทธิ์วัคซีนและสารชีวภัณฑ์ในกลุ่มของสารชีวโมเลกุลเหล่านี้ และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความจำเพาะเจาะจง มีความทันสมัย รวมถึงต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการผลิตและทำบริสุทธิ์สารชีวภัณฑ์ เพื่อให้สามารถผลิตและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง ซึ่งจากผลงานวิจัยที่ผ่านมาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า มีการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและสารชีวภัณฑ์ในกลุ่มของสารชีวโมเลกุลเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถต่อยอดงานวิจัยสร้างสรรค์เหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรม หรือเพื่อการใช้งานจริงในเชิงพื้นที่ได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการเชื่อมโยงระหว่างการเพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อการทดสอบระดับภาคสนาม และการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการค้า

ภาพที่ 1 บทบาทและการดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ ที่ช่วยเร่ง (accelerate) การนำไปใช้ประโยชน์ของวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย 1 ใน 9 ของประเทศ ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนโครงการวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องปฏิบัติการเชี่ยวชาญในคณะต่างๆ เช่น คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะประมง ได้มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมโรคในโค กระบือ สัตว์ปีก สุนัข และปลา ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจและสัตว์เลี้ยง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท (ตารางที่ 1) ซึ่งวัคซีนทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นมาได้ผ่านการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (lab scale) และมีเพียงงานผลงานวิจัยบางส่วนที่สามารถพัฒนาการผลิตในระดับ Pilot scale จึงทำให้เห็นได้ว่างานวิจัยสร้างสรรค์ที่มีอยู่นั้น ส่วนใหญ่ยังขาดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ชนิดสัตว์ ประชากรสัตว์ (ตัว)มูลค่าทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) Candidate vaccine ที่อยู่ในระดับ TRL 1-2 Candidate vaccine ที่อยู่ในระดับ TRL 3-5 
โคเนื้อ 5,824,270174,728.10 KU TBD series, 
KU VAC series 
KUVAC1, KUVAC2 
โคนม 657,961 32,898.05 KU TBD series, 
KU VAC series 
KUVAC1, KUVAC2 
กระบือ 1,216,743 60,837.15 KU TBD series, 
KU VAC series 
KUVAC1, KUVAC2 
สุนัข 6,622,364 9,300.00KU DOG seriesKU DOG1, KU DOG2 
ปลานิล 189,947 ตัน 9,802.07 StrepKU1, StrepKU3, StrepKU5 StrepKU2, StrepKU4 
รวม 287,565.37
ตารางที่ 1  มูลค่าทางเศรษฐกิจของสัตว์และวัคซีนในสัตว์ที่พัฒนาโดยบุคลากรและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เมื่อพิจารณาข้อจำกัดในการนำผลผลิตทางด้านวัคซีนและสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในสัตว์ไปใช้งานในปัจจุบัน พบว่า ผลลัพธ์จากงานวิจัยเหล่านี้ ต้องการการแปล (translation) ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ ที่ต้องเพิ่มระดับการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ (lab scale) ไปสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) (ภาพที่ 1) ซึ่งเป็นหน้าที่ของ pilot plant ในการปรับแต่งกระบวนการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ ให้มีวิธีการที่เหมาะสมกับการผลิตในโรงงาน GMP และมีหน้าที่อื่นๆ เช่น มีหน้าที่ปรับแต่งอาหารเลี้ยงเชื้อให้เหมาะสมกับการขึ้นทะเบียน อย. จนกระทั่งสามารถผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ในการทดสอบภาคสนามก่อนได้ และเมื่อได้กระบวนการผลิตในระดับ pilot scale นี้แล้ว ก็จะสามารถยกวิธีการผลิตดังกล่าวนำไปขึ้นไปเป็นวิธีการผลิตในระดับโรงงาน GMP ได้ ซึ่งก็จะต้องมีการตรวจสอบขั้นตอนการผลิตวัคซีนเชิงอุตสาหกรรมต้นแบบที่นำไปใช้ทดสอบประสิทธิภาพภาคสนามอีกครั้ง เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพ ความคงตัว และความปลอดภัยของวัคซีน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย. ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ก็จะไม่สามารถผลิตวัคซีนและสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และต้องพึ่งพาการนำเข้าวัคซีนและสารชีวภัณฑ์จากต่างประเทศ

เมื่อพิจารณาถึงความต้องการข้างต้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของการใช้นวัตกรรมเพื่อวิจัยและพัฒนา และการผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์เพื่อใช้กับสัตว์ของประเทศ และถึงเวลาที่ประเทศไทยควรต้องมีโรงงานผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์เพื่อใช้กับสัตว์ที่ได้รับรองมาตรฐาน Good manufacturing practice (GMP) และได้รับการรับรองโดย อย. ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์เพื่อใช้กับสัตว์เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมหาศาล  ซึ่งการจัดตั้งโรงงานต้นแบบวัคซีนในสัตว์ มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แล้ว ยังเป็นองค์กรที่ช่วยส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากร นักวิจัย นิสิต ที่ทำงานหรือมีความสนใจให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงสามารถทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนางานวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ไปอย่างก้าวกระโดดและมีทิศทางชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยทางด้านวัคซีนในประเทศที่ยังมีการวิจัยอยู่น้อย ยังขาดข้อมูลการวิจัยในวัคซีนบางชนิด โดยอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายการวิจัยข้างต้น ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่ประเทศไทยมีอยู่ ให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนความรู้ทางด้านวัคซีนสัตว์ให้มีมากขึ้น เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ทางด้านวัคซีนสัตว์ให้มีเพิ่มมากขึ้น

เครือข่ายความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัย

จากการประชุมโดยข้อตกลงของคณบดี 4 คณะ ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะประมง คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มีความเห็นสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ Pilot scale ขึ้นที่คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ โดยทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาวัคซีนที่ใช้ในสัตว์ ให้เข้าสู่เชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบโดยมี โครงสร้างการบริหารศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

ผลลัพธ์ ผลกระทบ และผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์ฯ

เมื่อศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ ดำเนินการแล้ว จะมีผลลัพธ์ ผลกระทบ และผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์ ดังนี้

Output ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย

  1. มีนักวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ของประเทศไทย ทั้งเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยต่างๆของประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
  2. มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ของเครือข่ายผู้พัฒนาวัคซีนสัตว์ ทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง และมหาวิทยาลัยอื่นๆของประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
  3. มีวัคซีนต้นแบบสำหรับสัตว์ ที่พร้อมจะจดสิทธิบัตรและนำขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อส่งต่อเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนและการผลิตเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และสามารถส่งออกวัคซีนไปขายต่างประเทศได้ในอนาคต
  4. มีเครือข่ายนักวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ของประเทศไทย ที่จะช่วยพัฒนาวัคซีนในสัตว์ของประเทศไทย เพื่อใช้แก้ปัญหาในประเทศอย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ ที่อาจไม่มีประสิทธิภาพตรงกับปัญหาของประเทศไทย
  5. มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ทางด้านวัคซีนในสัตว์อย่างต่อเนื่อง งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนในสัตว์ที่สามารถสร้างผลงานตีพิมพ์ได้ ไม่ต่ำกว่าปีละ 5 – 10 เรื่อง ทั้งจากการทำวิจัยร่วมกันของเครือข่ายผู้พัฒนาวัคซีนสัตว์ ทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง และมหาวิทยาลัยอื่นๆของประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
  6. เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และวงการปศุสัตว์ไทย มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องวัคซีนในสัตว์แก่สาธารณชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเพิ่มทางเลือกการผลิตสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารให้เป็นแบบอินทรีย์ ทั้งเนื้อและนมอินทรีย์ เพื่อลดการใช้สารเคมีในสัตว์ที่คนไทยใช้เป็นอาหารและในสัตว์เลี้ยง

Outcome ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ประกอบด้วย

  1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นศูนย์กลางของข้อมูลทางด้านวัคซีนในสัตว์ ทั้งทางด้านวิชาการ และ เครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน
  2. มีบุคลากรวิจัย อาจารย์ นักวิจัย และนิสิต ทำวิจัยด้านการพัฒนาวัคซีนสัตว์ในประเทศไทยร่วมกับห้องปฏิบัติการทั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง และมหาวิทยาลัยอื่นๆของประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อพัฒนางานวิจัยจากโครงการวิจัยที่ได้รับทุนระดับชาติและนานาชาติ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ เพื่อใช้ในการจดสิทธิบัตร
  3. มีเครือข่ายนักวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ของประเทศไทยเพื่อจัดทำแผนงานความร่วมมือกับหน่วยงาน กำหนดทิศทาง บทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินงาน รวมไปถึงเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลทางวิชาการอย่างทั่งถึงและต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและผลักดันงานวิจัยทางด้านวัคซีนในสัตว์ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปศุสัตว์ในประเทศไทย เพื่อระดมสมองและแก้ปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปได้
  4. มีวัคซีนต้นแบบสำหรับสัตว์ ที่พร้อมจะจดสิทธิบัตรและนำขึ้นทะเบียนกับ อย. และสามารถผลิตให้เกษตรกรสามารถใช้เพื่อช่วยลดการสูญเสียในสัตว์ที่จะได้รับผลกระทบ ลดการปนเปื้อนของสารเคมี สร้างความปลอดภัยให้กับวัตถุดิบอาหาร สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงของอาหาร ช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตสัตว์ให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
  5. ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตชีวภัณฑ์ในสัตว์มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศและสามารถส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศได้

ผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์ฯ

  1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของใช้นวัตกรรมเพื่อวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ของประเทศไทย
  2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีรายได้จากการดำเนินงานของศูนย์ ในการรับผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ใช้บริการ
  3. คณะ และมหาวิทยาลัย สามารถใช้ศูนย์ เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางด้านศาสตร์ของการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ของประเทศไทย ทำให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและงานวิจัยเพิ่มขึ้น

ข้อมูลและภาพ : ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ในสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์