ชุดทดสอบสารซัลบูทามอลปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ (VTKU-Salbutam kit)

หัวหน้าโครงการวิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒินันท์ รักษาจิตร์

ผู้ร่วมวิจัย

อ.น.สพ.ดร.สุชนิทธิ์ งามกาละ
อ.น.สพ.ดร.ณัฐพงศ์ อัคริมาจิรโชติ (คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก.)
นางสาวฉันท์ชนก ดวงศรี
นายอุเทน พรหมอริยะ

รายละเอียดงานวิจัย

สารปนเปื้อนในอาหาร (Contaminants) หมายถึง สารที่ผสมอยู่ในอาหารซึ่งอาจมาจากกระบวนการผลิต การบรรจุ ตลอดจนการขนส่งและการเก็บรักษา รวมทั้งการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม เป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่น สี รส ในการปรุงอาหาร สารบางชนิดมีคุณค่าทางอาหาร บางชนิดทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ปัญหาสารปนเปื้อนในอาหารที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การลักลอบใช้สารเคมีผสมลงในอาหารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารสุกรและโค เพื่อเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ ลดเปอร์เซ็นต์ไขมันในซากและทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดงขึ้น โดยเฉพาะสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (β2-agonist) หรือสารเร่งเนื้อแดง เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเมแทบอไลต์ (metabolite) ที่ตับและถูกกำจัดออกทางไตเป็นหลัก ร่างกายกำจัดออกได้ประมาณ 70% ของปริมาณที่ได้รับภายในเวลา 24 ชั่วโมงทางปัสสาวะ (Douglas Pharmaceutical Ltd, 1999 ) อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้รับสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์หรือสารเร่งเนื้อแดงที่ตกค้างในเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้าไปเป็นปริมาณมาก จะส่งผลข้างเคียงต่อผู้บริโภคโดยตรงเช่น ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้อสั่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานๆ ยังส่งผลให้เกิดการแพ้ยาและก่อให้เกิดมะเร็งได้ ชุดทดสอบสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสัตว์ VTKU-Salbutam kit) ซึ่งชุดทดสอบนี้ใช้หลักการเกิดปฏิกิริยาเชิงซ้อนของสารเร่งเนื้อแดงซัลบูทามอลกับสารทดสอบ โดยเมื่อเกิดปฏิกิริยาที่เป็นผลบวกสีของสารละลายจะเปลี่ยนสีน้ำตาลเข้มหรือสีเขียวเข้มซึ่งสามารถแปรผลทดสอบได้ด้วยตาเปล่าสามารถตรวจสอบได้ถึงระดับ ppm