นวัตกรรมบ้านพักพิงสุนัขจรจัดแบบถอดประกอบได้ (Mobile shelter)

หัวหน้าโครงการวิจัย : ศาสตราจารย์ น.ส.พ.ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์

ผู้ร่วมวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วุฒินันท์ รักษาจิตร์
ดร.อัครพนธ์ เอี้ยวรัตนวดี

รายละเอียดงานวิจัย

ปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศไทยนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น จากสถิติกรมปศุสัตว์ที่ทำการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า มีจำนวน สุนัขเร่ร่อนจรจัดทั้งประเทศมากกว่า 700,000 ตัว เฉพาะในกรุงเทพสำรวจพบสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานครมีมากกว่า 100,000 ตัว กรุงเทพมหานครจะประสบปัญหาความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้ายิ่งเพิ่มมากขึ้นยิ่งในช่วงฤดูร้อน จากจำนวนสุนัขที่มีอาการป่วยทั้งหมด พบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าถึงร้อยละ 90 และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 60 เป็นสุนัขจรจัด ยิ่งทำให้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการสร้างศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดจึงเป็นโครงการที่ต้องมีความเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า แต่เนื่องจากงบประมาณในการก่อสร้างโรงเรือนสำหรับศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดนั้นต้องลงทุนสูง อีกทั้งยังเกิดปัญหาในด้านการบริหารจัดการเช่น เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ ความชัดเจนในการแบ่งหน้าที่การทำงานของบุคลากร การจัดแบ่งพื้นที่ของตัวอาคารตามการใช้งาน เป็นต้น

คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการจัดสร้างศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดแบบชั่วคราวที่สามารถเคลื่อนย้ายและทำการติดตั้งได้ง่าย เพื่อรองรับอุบัติการณ์ที่มีการเพิ่มประชากรของสุนัขจรจัดอย่างรวดเร็ว โดยที่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่มีราคาถูก และดำเนินการได้ง่าย โดยสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถถอดประกอบได้เช่น กรงสุนัขแบบถอดประกอบได้ ซึ่งเป็นวัสดุมีมีความทนทานน้ำหนักเบา สามารถขนย้ายและติดตั้งได้ง่าย ซึ่งจะลดปัญหาจากการใช้งบประมาณที่สูงในการสร้างศูนย์พักพิงแบบถาวร รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพสัตว์ในศูนย์พักพิงสุนัขที่ไม่มีเจ้าของซึ่งมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้สุนัขมีสุขภาพที่ดีและควบคุมพาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ